ขอม เขมร ขะแมร์ ของ ขอม

เดิม ขอม ไม่ได้หมายถึงเขมรกลุ่มเดียว เพราะ เขมร นั้น เป็นคำไทย ซึ่ง หมายถึง ขะแมร์ ชาวเขมร ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ขอม และไม่รู้จัก ขอม โดยคำว่า เขมร ได้ปรากฏขึ้นอย่างน้อย ๆ เมื่อ พ.ศ. 1069 จากจารึกคำว่า เขมร ในจารึกซับบาก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา[2] ต่อมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1893 แล้วชื่อ ขอม มีความหมายเปลี่ยนไปเป็นพวกเขมรเท่านั้น สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำไมชื่อขอม เปลี่ยนความหมายไปเป็นเขมร ? ยังหาคำอธิบายไม่ได้ชัดเจน แต่พอจะจับเค้าว่าเพราะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานับถือพุทธนิกายเถรวาทหมดแล้ว รวมทั้งละโว้ แต่ทางเขมรยังมีพวกนับถือฮินดูกับพุทธมหายาน คือขอมอยู่บ้าง

คำว่า ขอม ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย 2 แห่ง ระบุชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักวิชาการคนแรก ๆ พยายามศึกษาและอธิบายคำคำนี้ใหม่ ได้เสนอว่า ขอม ไม่ได้หมายถึงชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลางจิตร ยังอธิบายว่า คำว่าขอม ถูกนำมาใช้ในงานเขียนสมัยใหม่ (ขณะนั้น)โดยมีความรู้สึกชาตินิยมเป็นพื้นมากกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นการถือว่าขอมเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เคยแผ่อำนาจมาครอบครองดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือชาวไทยโบราณ ต่อมาชาวไทยที่สุโขทัยจึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้พ้นจากอำนาจของขอม เพื่อสร้างความรู้สึกชาตินิยมในประเทศไทย[3]

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการแห่งสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ก็เสนอว่า ขอม ในที่นี้น่าจะหมายถึงคนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ คำว่าขอม ใช้เรียกคนเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เก่าแก่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และต่อมาจึงเรียกรวมไปถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอยุธยา จากนั้นในหลักฐานประวัติศาสตร์ของอยุธยา ได้ใช้คำนี้เรียกคนในดินแดนเขมรแถบเมืองพระนครหรือนครธม ในข้อความที่ว่า "ขอมแปรพักตร์"และในกฎมณเฑียรบาล น่าจะหมายถึงคนในเขมรหรือกัมพูชา[4]โดยสรุป คำว่า ขอม เป็นคำเรียกคน มีความหมายทางวัฒนธรรมและมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา